หลักสูตรการคืนชะนีสู่ป่าเบื้องต้น รุ่นที่ 1

การคืนสัตว์ป่ากลับคืนสู่ป่า ปัจจุบันยังถือว่าเป็นศาสตร์ที่ยากทั้งในระดับประเทศและทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งสัตว์ป่าที่ถูกล่าออกจากป่าและถูกนำไปใช้ประโยชน์ ถูกเลี้ยงโดยมนุษย์ ถูกนำไปทรมาน หรือถูกนำไปบำเรอความสุขส่วนตัว
ชะนีถือเป็นหนึ่งในสัตว์ป่าที่นับว่าการคืนสู่ธรรมชาตินั้นมีความยากระดับหัวแถวของสัตว์ป่าทั้งหมด เนื่องจากชะนีมีพฤติกรรมที่คล้ายมนุษย์ มีความคิด ความอ่าน มีความรู้สึกทางอารมณ์ใกล้เคียงกับมนุษย์มาก เมื่อพ่อแม่ของมันถูกฆ่าในป่าเพียงเพื่อเอาลูกชะนีมาขายในตลาดมืด และถูกนำมาเลี้ยงอย่างลูกมนุษย์ หรือนำไปใช้โชว์ให้นักท่องเที่ยว มีการทรมานมันต่างๆนานา นำมันมาสอนให้เดินเยี่ยงมนุษย์ จึงนับว่าการจะสอนฟื้นฟูพฤติกรรมให้ลืมการเดินและกลับไปโหนบนต้นไม้และใช้ชีวิตในธรรมชาติได้อีกครั้งนั้นมีความยากลำบากยิ่งนัก
ปัจจุบันองค์ความรู้ของโครงการคืนชะนีสู่ป่า มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย นั้นนับว่าได้สั่งสมประสบการณ์มายาวนานกว่า 30 ปี และถือเป็นโครงการแรกที่มีการพยายามฝึกพฤติกรรมชะนีให้กลับคืนสู่ป่าได้ จนประสบความสำเร็จมากที่สุดในโลก มีการคืนชะนีมือขาวในภาคใต้ของไทยจนสามารถออกลูกออกหลานขยายพันธุ์ได้อีกครั้งในพื้นทีที่มันเคยถูกล่าจนสูญพันธุ์ไป นอกจากนี้ยังได้มีการเดินสายถ่ายทอดองค์ความรู้ให้หลายโครงการทั่วโลก รวมถึงอาสาสมัครที่สนใจมาแล้วหลายพันคน
ทางมูลนิธิฯได้เล็งความสำคัญในการถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ให้แก่เจ้าหน้าที่ภาคสนามของทางกรมอุทยานแห่งชาติ หรือ หน่วย Smart Petrol ที่ปัจจุบันได้ทำหน้าที่อย่างเข้มแข็งในการลาดตระเวนปกป้องผืนป่าอนุรักษ์ไทย ได้รับองค์ความรู้เพิ่มเติมในศาสตร์ด้านการคืนชะนีสู่ป่า จึงได้จัดทำ หลักสูตรการคืนชะนีสู่ป่าเบื้องต้น รุ่นที่ 1 ขึ้น
ในหลักสูตรเบื้องนี้ ได้ครอบคลุมองค์ความรู้พื้นฐานอันได้แก่
  1. ชะนี คือ อะไร ในประเทศไทยมีกี่สายพันธ์ุ อยู่ถิ่นไหนบ้าง
  2. พฤติกรรมชะนีในป่า กับชะนีที่ถูกนำมาเลี้ยงแตกต่างกันอย่างไร
  3. ทำไมชะนีถึงถูกล่า ล่ายังไง ล่ามาทำอะไร ถูกนำไปใช้งานที่ไหน และทรมานอย่างไรบ้าง
  4. กฏหมายเบื้องต้นที่เกี่ยวข้อง จุดบอด และช่องว่างที่ยังทำให้มีการล่าและใช้งานชะนีอย่างผิดกฏหมาย
  5. เมื่อช่วยเหลือชะนีมาแล้วต้องทำอย่างไรบ้าง
  6. ขั้นตอนการตรวจสุขภาพ ตรวจเลือดเบื้องต้น
  7. ขั้นตอนการฟื้นฟูสัญชาตญาณชะนี
  8. อาหารของชะนีและการสร้างกรงฝึกชะนีที่ถูกต้องในการฟื้นฟูสภาพชะนี
  9. การปล่อยและการติดตามชะนีหลังปล่อย
  10. การทำความเข้าใจพื้นที่แหล่งอาศัยและแหล่งอาหารของชะนีในพื้นที่ปล่อย

 

โดยเจ้าหน้าที่ Smart Petrol ของทางกรทอุทยานแห่งชาติฯ รุ่นแรกที่ได้จบหลักสูตรพร้อมรับประกาศนียบัตรแห่งองค์ความรู้ในรุ่นแรกมีจำนวนทั้งสิ้น 8 นาย