หลายคนคงจะคุ้นเคยได้เห็นและสัมผัสกับ “รา” มาบ้างสักครั้งหรือหลายครั้งในชีวิตโดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าพูดถึงขนมปังตอนหมดอายุเจ้าราก็มักจะขึ้นเป็นเส้นใยๆฟูๆสีขาวบ้างสีดำบ้างสีเขียวบ้างแตกต่างกันไป ทำให้กินไม่ได้ต้องโยนทิ้งไป แล้วเจ้าราตัวดีที่ว่านี้มันคืออะไร ? มันเป็นพืชหรือว่าเป็นสัตว์หรือเป็นตัวอะไร ? ในเมื่อรานั้นคลอโรฟิลก็ไม่มี สังเคราะห์แสงก็ไม่เป็น เราจะให้มันเป็นพืชก็คงจะกระไรอยู่ จะให้มันเป็นสัตว์ก็คงจะไม่ใกล้เคียง เหล่ามนุษย์โลกก็เลยแยกประเภทมันออกมาใหม่ คือ เห็ดรา ไปเลยจบข่าว
แล้วเจ้าเห็ดรา (หรือที่ภาษาอังกฤษเรียกกันว่า Fungi ที่มักชอบอ่านล้อกันขำๆว่า ฟังใจ) มันเป็นยังไง ทำไมจะต้องมาเรียก “เห็ด” รวมกับ “รา” ซึ่งมันก็ไม่เห็นจะหน้าตาเหมือนกันเลย พูดกันอย่างบ้านๆให้เข้าใจกันง่ายๆคือ เจ้าสิ่งมีชีวิตที่เรียกว่าเห็ดรานี้มันเจริญเติบโตขึ้นโดยการหม่ำกินและย่อยสิ่งที่อยู่รอบตัวมัน จากเส้นใยเล็กๆพอหม่ำย่อยสิ่งที่มันไปเกาะเข้าไปเยอะๆเส้นใยหรือตัวมันก็จะเริ่มโตขยายอ้วนขึ้นเรื่อยๆจนเรามองเห็นมันได้ชัด หรือถ้าจะเรียกให้สวยหรูหน่อยก็คือผู้ย่อยสลายตามธรรมชาตินั่นเอง จากที่เราเห็นมันเป็นใยขาวๆดำๆเล็กๆตามขอบขนมปังถ้าทิ้งไว้เรื่อยๆ เราก็จะเห็นมันขยายโตอ้วนแตกเส้นใยกิ่งก้านสาขาขึ้นเรื่อยๆจนขนมปังถูกย่อยกลืนกินไปจนหมดแผ่น
แล้วตกลงว่า รา กับ เห็ด มันต่างกันอย่างไร ? เจ้ารากับเห็ดนั้นมันเติบโตเหมือนกันคือเป็นผู้ย่อยสลายดูดกินสิ่งที่อยู่รอบตัวมัน ไม่ว่าจะเป็นใบไม้ ขอนไม้ หรือแม้กระทั่งอินทรีย์วัตถุอื่นๆ แล้วแต่ความชอบของเห็ดและราแต่ละชนิด ซึ่งเราจะเรียก “รา” ที่เติบโตจนเป็นดอกได้ว่า “เห็ด” นั่นเอง
ถ้าเรามองถึงความสวยงามของเห็ดหลากหลายชนิดนั้น มันก็อาจจะแอบทะนงตนว่า ข้าเป็นเลิศกว่าพืช เพราะข้ากินเศษใบไม้ร่วงแฉะๆ ขอนไม้ผุๆที่ดูเน่าๆแล้วโตบานขึ้นมางดงามเลยทันที ไม่ต้องรอเหมือนพืชที่กว่าจะผุดโตขึ้นมาเป็นลำต้นกว่าจะแตกกิ่งก้านกว่าจะออกใบกว่าจะบานออกมาเป็นดอกไม้ที่งดงามได้นั้นหลายขั้นหลายตอนเหลือเกิน ซึ่งเห็ดรากับพืชนี้ถึงแม้จะถูกแยกประเภทออกมาคนละอาณาจักร แต่ก็มีจุดเหมือนกันคือบางชนิดก็ใจดีแบ่งปันให้สิ่งมีชีวิตอื่นเช่นคนและสัตว์กินได้ แต่บางชนิดก็เก๋าเกมส์ปล่อยหมัดหนักไม่ยอมให้มาทำร้ายเคี้ยวกินกันได้ง่ายๆกลืนเข้าไปก็ตายได้เหมือนกัน หรือที่เราเรียกว่า เห็ดพิษ พืชที่มีพิษ เป็นต้น
ร่ายมาสะยาวก็หวังว่าผู้อ่านคงพอเข้าใจถึงเห็ดรากันพอประมาณเป็นน้ำจิ้ม ซึ่งในความจริงแล้วยังแยกลงลึกอีกหลายขุมนักในวงการวิชาการและวิทยาศาสตร์ แต่สำหรับคนที่วนเวียนอยู่ในแวดวงป่าและสัตว์ป่านั้น การได้พบเห็น เห็ดป่า เปรียบเสมือนความงดงามจากสรวงสรรค์ เปรียบได้เหมือนการพบเจอสาวงามให้ชื่นใจหลังจากข้ามเขามาจนหมดแรง เปรียบเสมือนโลกในจินตนาการที่น้อยคนนักจะมีโอกาสได้มาชื่นชม เพราะถึงแม้นจะรู้ว่าอยู่บริเวณไหนของป่าถ้าเข้าไปผิดเวลาแค่แม้เพียงวันเดียวก็อาจจะพลาดการชมวงจรชีวิตที่แสนสั้นก็เห็ดไปเลยทีเดียว
ข้างล่างนี้คือคอแลคชั่นความหลากหลายของเห็ดที่สามารถพบได้ในผืนป่าเขาพระแทว ป่าฝนที่สมบูรณ์ที่สุดผืนสุดท้ายของจังหวัดภูเก็ต
- มูลนิธิช่วยชีวิตสัตว์ป่าแห่งประเทศไทย
- เห็ดกระดุมทองเหลือง
- เห็ดถ้วยขนยาว
- เห็ดมะลิลา
- เห็ดหมวกคุ่ม Coprinus disseminatus (Pers. & Fries) S.F. Gray
- เห็ดสวย
- เห็ดร่มเหลืองก้านลวดดำ Marasmius conicopapillatus Henn.
- เห็ดดาวหาง
- เห็ดดันหมีม่วงดำ
- เห็ดแดงน้ำหมาก
- เห็ดหนังช้าง Amauroderma amoiense J. D. Zhao & L. W. Hsu
- เห็ดพัดใบลาน
- เห็ดดอกไม้ทะเลขาว
- เห็ดปะการังเขากวาง
- เห็ดร่างแหกระโปร่งยาวสีขาว หรือ เห็ดเยื่อไผ่
- เห็ดหมวกแดงกุหลาบ Hygrocybe coccinea (Schaeff. ex Fr.) Kumm.